วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2552

สัปดาห์ที่ 7 แก้ไฟริษยาได้อย่างไร


แก้ไฟริษยาได้อย่างไร
“แข่งกันดี ไม่ดีสักคน ผลัดกันดี ได้ดีทุกคน” จิตใจมนุษย์จะกล่าวไปก็เหมือนกระแสน้ำ คือไหลสู่ที่ต่ำ ไหลลงสู่ความชั่ว กิเลสและอบาย สังคมปัจจุบันเปรียบไปก็คล้ายชะง่อนผา เมื่อน้ำไหลบ่ามาก็ไหลร่วงสู่เบื้องล่างได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง แต่หากเรามีเขื่อนที่คอยกั้นขวางกระแสแห่งจิตใจนั้นไว้ จิตใจเราก็คงมิต้องไหลสู่ความชั่ว ความริษยา เป็นอาการอย่างหนึ่งของกิเลส มนุษย์เราทุกคนเป็นผู้มีกิเลส จึงเป็นธรรมดาย่อมไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของตนให้เป็นไปอย่างผ่องแผ้ว ปราศจากกิเลสได้เสมอไป ความริษยาเป็นอาการหนึ่งของกิเลส ดังนั้นปุถุชนจึงย่อมยากที่จะควบคุมไว้ได้ไม่ให้เกิด ความริษยาของมนุษย์จึงย่อมเกิดได้เป็นระยะหรือเป็นครั้งคราว ต่อคนนั้นบ้างต่อคนนี้บ้าง แต่ผู้มีปัญญาเห็นโทษของความริษยาที่ตนได้รับว่า ยิ่งปล่อยให้มีความริษยามาก ตนก็จะได้รับโทษของความริษยามาก ผู้มีปัญญาจึงแก้ไขป้องกันควบคุมมิให้ความริษยาเกิดง่าย และเกิดแรง แม้ว่าจะไม่สามารถดับเสียได้จริงตลอดไปผู้ที่เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีแล้วเกิดความริษยา ที่มักเรียกปนกันไปว่า อิจฉานั้น เป็นผู้ที่ขาดเมตตา มีเมตตาไม่พอ โดยเฉพาะแก่ตนเอง เพราะเมื่อความริษยาก่อให้เกิด ความร้อนใจ ผู้ยอมให้ความริษยาเกิดขึ้น ก็เท่ากับทำใจตนให้ร้อน ไม่มีความสุข จึงเท่ากับไม่มีเมตตาต่อตนเองนั่นเอง แม้ความริษยาจะเป็นการขาดเมตตาแก่ตนด้วย ต่อผู้อื่นด้วย แต่บางทีความริษยาก็ให้ทุกข์แต่กับผู้มีความริษยาเองเท่านั้น มิให้ทุกข์ถึงผู้ถูกริษยาด้วย เพราะบางทีความริษยานั้น ก็มิอาจปรากฏออกเป็นการกระทำคำพูดได้ ต้องอัดแน่นเป็นความทุกข์ร้อนเร่าอยู่แต่ในหัวใจผู้มีความริษยาเท่านั้น จึงพยายามไม่ให้ความริษยาเกิดขึ้นเสียดีกว่า เมื่อเราเห็นผู้ใดได้ดี เราให้ความยินดีขึ้นในใจ ชื่นชมยินดีมีความดีความเหมาะควรต่างๆ สมกับความดีที่ได้รับนั้นจิตใจขอเราคิดเช่นนั้น ก็จะพลอยเป็นความอิ่มเอิบไปกับความคิดยินดีด้วยของตน อิจฉาริษยาเป็นเรื่องปกติวิสัยของคนก็ว่าได้ เพราะใครบ้างไม่เคยอิจฉาคนอื่น ใครบ้างไม่เคยถูกผู้อื่นริษยา เมื่อใดที่เราริษยาผู้อื่น เรานั้นก็จะเป็นทุกข์ จิตใจร้อนรุ่มไม่เป็นสุข คิดจะทำร้ายเขา คิดจะให้เขาพินาศ เกิดเป็นบาปขึ้น จงยึดถือหิริโอตัปปะ “หิริ” คือ ความละอายต่อบาป ความละอายในการทำชั่ว “โอตัปปะ”นั้นคือความกลัวต่อบาป การคร้ามขยาดต่อทุจริต และเมื่อไรที่เราถูกผู้อื่นริษยาก็จงยึดถือพรหมวิหาร ๔ จงมีเมตตาต่อเขา เพื่อนผู้น่าสงสาร ผู้มีไฟริษยาสุมทรวง จงกรุณาต่อเขา คิดอยากให้เขามีความสุข จงมีมุทิตา พลอยยินดีเมื่อเขาได้ดี และจงมีอุเบกขา วางใจเป็นกลางต่อเขา อย่าคิดร้ายตอบเขา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น